การวาดรูปกับภาษา
วันนี้ดูรายการ 又吉直樹のヘウレーカ!ที่อัดเก็บไว้หัวข้อ “ทำไมพวกเราถึงวาดรูป?” มีผู้ดำเนินเนื้อเรื่องอีกคนคืออาจารย์ไซโต้ อายะ อาจารย์สอนศิลปะในมหาลัยด้านศิลปะ
เริ่มต้นรายการเป็นแกลเลอรี่รูปแสดงรูปวาดที่มีเส้นเหมือนวาดมั่วๆ มีหลายสี ไม่ใช่รูปของศิลปินคนไหน แต่เป็นรูปที่ลิง (ape) หลายๆสายพันธุ์วาด ดูเหมือนเป็นงานศิลปะแนว abstract
อาจารย์อายะ แนะนำการทดลองอีกแบบกับลิง คือมีกระดาษที่วาดรูปโครงหน้าลิงไว้แล้ว แต่ไม่มีตา ไม่มีจมูก ไม่มีปาก เอารูปนี้ให้ลิงที่เคยวาดระบายสีมั่วๆ ให้ลองวาดหรือระบายสีดู ปรากฏว่าลิงเหล่านั้น ก็เอาภู่กันระเลงมั่วๆ เหมือนเดิม คือไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับรูปโครงหน้านั้นเลย
การทดลองแบบเดียวกัน แต่ทดลองกับเด็กๆอายุตั้งแต่ 1 ขวบ, 2 ขวบ, 3 ขวบ พบว่าเด็กที่อายุประมาณ 1ขวบ วาดรูปเช่นเดียวกับที่ลิงทำ คือวาดเส้นไปมามั่วๆ โดยไม่คำนึงถึงโครงรูปที่อยู่ในกระดาษ เด็ก 2 ขวบก็เช่นกัน แต่พอเด็กที่มีอายุ 2 เกือบ 3 ขวบทำการทดลองนี้ พบว่าเมื่อเด็กจับภู่กันแล้วจะเริ่มวาด ตา, จมูก ปาก (ประมาณรูปข้างล่าง) ไม่ขีดเส้นมั่วๆเหมือนลิง หรือเด็ก 1–2 ขวบ
ทำไม? อาจารย์อายะอธิบายว่า ลิงกับเด็ก 1–2 ขวบวาดเป็นเส้นๆ ต่างจากเด็ก 2–3 ขวบที่วาดตา, จมูก, ปาก เพราะว่าเด็ก 2–3 ขวบรู้ “ภาษา” เมื่อคนเริ่มรู้ภาษาหรือคำพูด ภายในสมองก็จะมีชื่อ(name, label) เหมือนป้ายชื่อกำกับสิ่งของในหัว และจะเริ่มใช้ภาษาในการแสดงออก (วาด) มา เมื่อเด็กที่รู้ภาษาเห็นรูปโครงหน้า ในหัวก็คิดจินตนาการเป็นภาษาในหัวว่า “หน้า” คิดต่อเนื่องมาถึง ตา, จมูก, ปาก ทำให้วาดรูปออกมาแบบนั้น
ในทางกลับกัน การที่มนุษย์เริ่มมีภาษา ทำให้ภาษา(คำ) ไปผูกมัดความคิดให้แคบลง เช่น ในหัวนึกถึงคำว่า “ตา” ก็จะแสดง(วาด)ออกมาตามนิยามที่มีในหัว
อาจารย์อายะเล่าเรื่องของศิลปินในอดีตที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ว่ามีครั้งหนึ่งศิลปินนักวาดรูปคนนี้ เดินเข้ามาในห้องวาดรูปของตัวเอง เห็นรูปรูปหนึ่งสะดุดตา แปลกใหม่ สำหรับเขา ก็ยังสงสัยว่ารูปใครวาดแล้วเอามาไว้ในห้องของเขา ปรากฏว่าเป็นรูปม้าที่เขาวาดเองแต่ดันไปวางรูปแนวนอนเป็นแนวตั้ง เลยทำให้ไม่รู้ว่าเป็นรูปม้า พอหมุนรูปให้ถูกแนว และ “รู้” ว่าเป็นม้า ความประทับใจแรกของรูปนั้นหายไป เพราะในสมองรับรู้แล้วว่าเป็นรูปม้าธรรมดาๆนี่เอง หลังจากนั้นศิลปินคนนั้นเลยฉุกคิดได้ เริ่มวาดรูปแนว abstract เป็นหลักไปเลย เลยพอจะรู้สึกได้แล้วว่าทำไมในโลกนี้ถึงมีศิลปะแนว abstract
การทดลองอีกอันที่น่าสนใจคือให้นายนาโอกิ ผู้ดำเนินรายการ วาดรูปเหมือนคน พอวาดเสร็จ อาจารย์อายะให้วาดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้ก้มลอดขาตัวเองดูคนคนนั้นและวาด
รูปที่วาดครั้งแรก กับครั้งที่สองต่างกันสิ้นเชิง สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือการวาดครั้งแรกเป็นการวาดในสถานการณ์ปกติ ใช้ตามอง, ในหัวตีความ(จินตนาการว่าอะไรต้องเป็นอย่างไร) และวาดออกมา (มีผลของภาษาในรูปภาพ) ส่วนรูปที่สอง วาดรูปจากมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน(ไม่มีนิยาม, ไม่มีคำในหัว) จะวาดตามสิ่งที่เห็นโดยมีอิทธิพลของความคิด(ภาษา)น้อยกว่า
ดูรายการเสร็จแล้วคิดเอาเองว่า การที่คนมีภาษา, คำพูด ทำให้เราสื่อสารได้, ส่งต่อความคิดได้ ในทางกลับกันกลับถูกภาษานั้นๆครอบงำความคิดอีกทีหนึ่ง ภาษามีผลโดยตรงกับความคิด ที่รู้สึกได้กับตัวเองคือการที่ได้รู้ภาษาที่แตกต่างกันในหัว พฤติกรรมหรือความคิดจะเปลี่ยนไปตามภาษาที่ใช้ เกี่ยวกับเรื่อง “คำศัพท์” ในบางภาษามี, แต่อีกภาษาไม่มี แต่ไม่รู้ว่าพอรู้ว่า “มี” มันเกิดขึ้นมาให้หัวได้อย่างไร ทั้งๆที่อีกภาษาหนึ่งอธิบายเป็นคำไม่ได้